ประเด็นร้อน
ศาลทุจริตฯลงดาบคนโกง ออกฤทธิ์รวดเร็ว คนฉ้อฉลรับกรรมด่วน ไม่ช้า
โดย ACT โพสเมื่อ Sep 01,2017
- - สำนักข่าวเดลินิวส์ - -
"ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง" เป็นที่รู้จักมากขึ้น หลังเริ่มปรากฏผลการพิจารณาคดีสำคัญที่อยู่ในความสนใจของสังคม โดยคดีที่ดินอัลไพน์ที่เพิ่งมีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 29 ส.ค. ที่ผ่านมา ถือเป็นสำนวนคดีแรกของบุคคลดังที่ถูกฟ้องคดีโดยตรงกับศาลอาญาคดีทุจริตฯแล้วมีคำพิพากษาลงโทษ โดย "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" ถูกลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ในความผิดฐานใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบสมัยเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย พิจารณาอุทธรณ์และสั่งเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน โดยมีเจตนาช่วยเหลือ บริษัท อัลไพน์เรียลเอสเตท จำกัด, บริษัท กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด และผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ได้รับประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม หากจะย้อนไปก่อนหน้านี้มีคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่เกี่ยวข้องกับบุคคลซึ่งเป็นที่สนใจคือคดีรับสินบนบางกอกฟิล์มของนางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), คดีเรียกรับสินบนของอดีต รอง ผอ.องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) รวมถึงล่าสุดคือคดีค่าโฆษณาของนักเล่าข่าวคนดัง "สรยุทธ สุทัศนะจินดา" ซึ่งทั้ง 3 คดี เป็นการโอนย้ายคดีมาจากศาลอาญา แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ก่อนที่จะถูกพิพากษาความผิดโดยศาลอาญาคดีทุจริตฯ ที่ถือว่ามีความรวดเร็วกว่าเดิม เนื่องจากศาลอาญาคดีทุจริตฯ ตั้งขึ้นมาเพื่อเป้าหมายสำคัญคือการทำให้คดีลักษณะนี้ถูกดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ
"เนื่องจากการทุจริตและ ประพฤติมิชอบมีผลกระทบต่อเสถียร ภาพความมั่นคงทางสังคม และอุปสรรค สำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่ง ยืน ประกอบกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในระยะเวลาที่ผ่านมา ทวีความรุนแรงและก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของแผ่นดินเป็นจำนวนมาก และจากการดำเนินนโยบายในการแก้ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างจริงจัง ส่งผลให้มีคดีทุจริตและประพฤติมิชอบนำขึ้นสู่ศาลมากขึ้น จึงสมควรจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ"
นี่คือข้อความที่ระบุถึงเหตุผลในการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯ เพื่อแยกการพิจารณาคดีเป็นการเฉพาะ
ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ถูกตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติ มิชอบ 2559 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 59 ประกอบด้วยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติ มิชอบกลางและศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค โดยการดำเนินกระบวนการพิจารณาตามพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ มาตรา 6 บัญญัติว่า "วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้ใช้ระบบไต่สวนและเป็นไปโดยเร็ว" ทั้งนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตฯ เริ่มดำเนินการไปแล้วตั้งแต่ 1 ต.ค. 59 ขณะนี้ถือว่าเกือบครบ 1 ปี
นายอาคม ศรียาภัย รองอธิบดีผู้พิ พากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เผยถึงความแตกต่างของศาลอาญากับศาลอาญาคดีทุจริตฯว่า ศาลอาญาคดีทุจริตฯส่วนใหญ่คดีที่ฟ้องจะเป็นข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และความผิดอื่นประกอบกัน ขณะที่วิธีการดำเนินคดีของศาลอาญาคดีทุจริตก็จะแตกต่างออกไป โดยจะใช้ระบบไต่สวนซึ่งจะให้ศาลมีบทบาทร่วมกับคู่ความทุกฝ่ายเพื่อตรวจสอบความจริง ขณะที่ผู้พิพากษาจะถูกกำหนดคุณสมบัติในลักษณะที่มากกว่าคดีทั่วไป ทั้งนี้โดยหลักการให้ศาลร่วมตรวจสอบถือเป็นเรื่องดี เพราะจะมีความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่งว่าผู้ที่ลงโทษน่าจะมีความผิดโดยแท้จริง และผู้ที่ถูกยกฟ้องก็ไม่ผิดอย่างแท้จริง เนื่องจากบางครั้งบางคดีชนะกันด้วยเทคนิคหรือสมยอมกัน
สำหรับการฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ ผู้ที่มีอำนาจฟ้องจะแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. รัฐ เช่น อัยการสูงสุด พนักงานอัยการ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกรรมการ ป.ป.ช. และ 2.ประชาชนซึ่งต้องเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยกรณีที่รัฐเป็นผู้ฟ้องถือว่ารัฐมีการตรวจสอบข้อมูลก่อนฟ้องแล้ว ดังนั้นกระบวนการพิจารณาของศาลจะสั้นลง เพราะศาลเข้าใจเนื้อหาและสามารถควบคุมการพิจารณาคดีได้ ทำให้การพิจารณาคดีมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาอาจยังไม่ถือว่าเร็วดังใจที่ต้องการ เพราะระบบไต่สวนยังถือเป็นระบบใหม่ที่นำมาใช้ ทำให้ศาลจะต้องทำความเข้าใจและอธิบายคู่ความถึงระบบดังกล่าว ขณะที่องค์คณะในศาลเองมีแค่ 7 องค์คณะ ยังถือเป็นอุปสรรคในการพิจารณาให้รวดเร็ว แต่เชื่อว่าหากทุกอย่างเข้าระบบแล้วก็จะทำให้การพิจารณาคดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเป้าหมายของศาลต้องการให้คดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกมีกระบวนการพิจารณาที่รวดเร็วในชั้นอุทธรณ์ ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน
รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาทุจริตฯ ชี้แจงเพิ่มเติมถึงกรณีการฟ้องคดีกับศาลอาญาคดีทุจริตว่าในส่วนของเอกชนหรือประชาชนทั่วไปซึ่งไม่สามารถฟ้องคดีได้ เว้นแต่เป็นประชาชนที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นสามารถยกตัวอย่างได้คือ กรณีเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจชอบไปจับกุมคนใดคนหนึ่งและไปกักขังไว้ หากตัวผู้ถูกจับกุมได้รับความเสียหายจากการกระทำโดยไม่ชอบ คนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องจะมาฟ้องโดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติไม่ชอบไม่ได้ ในจุดนี้ค่อนข้างตีความเคร่งครัดว่าต้องเป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงเป็นพิเศษมากกว่าคนอื่นทั่วไป
ขณะที่เอกชนที่ยื่นฟ้องเข้ามา แต่ไม่ใช่ผู้เสียหายได้ทำให้สถิติที่ผ่าน มาศาลยกคำร้องเป็นส่วนมาก เพราะหลักการเรื่องนี้คือ เมื่อมีการ กระทำความผิดต่อรัฐ รัฐถือเป็นผู้เสียหาย การที่เอกชนคนใดคนหนึ่งซึ่งไม่ได้เป็นผู้รับความเสียหายโดยตรงเข้ามาดำเนินคดี อาจทำให้คดีของรัฐเสียหายได้ เช่น การกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ บางครั้งทำผิดหลายเรื่องทั้งเรื่องใหญ่และเรื่องเล็กปนกัน
หากเอกชนฟ้องข้อหาเจ้าหน้าที่รัฐยักยอกทรัพย์และความผิดปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ใน 2 ข้อหานี้มีโทษต่างกัน คดียักยอกทรัพย์มีโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่การปฏิบัติหน้าที่มิชอบมีโทษจำคุก 10 ปี หากปล่อยคนทั่วไปฟ้องข้อหาเล็กจะทำให้ข้อหาใหญ่จบลงไปด้วย เพราะตามหลักการให้ถือว่าการกระทำเดียวกันไม่ให้มีการฟ้องซ้ำซ้อน ฟ้องได้แค่ครั้งเดียว ฉะนั้นรัฐต้องจำกัดว่าความผิดนี้เฉพาะรัฐเท่านั้นที่จะฟ้องได้ แต่ประชาชนที่จะฟ้องต้องเป็นผู้เสียหาย จริง ๆ เท่านั้น และแม้จะเป็นผู้เสียหายแท้จริงแล้ว กฎหมายยังมีกระบวนการให้ศาลสอบถาม ป.ป.ช. ว่าตรวจสอบเรื่องนั้นอยู่หรือไม่ หากกำลังสอบอยู่ศาลอาจจะดูข้อมูลต่าง ๆ หากเห็นว่าเป็นการแกล้งฟ้อง เราก็สามารถยุติเรื่องและให้ไปดำเนินการทางป.ป.ช.ได้
"ที่ผ่านมามีคดีที่เอกชนไม่ใช่เป็นผู้เสียหายและมาฟ้องมีอยู่มากพอสมควร เพราะประชาชนจะรู้สึกว่าเขาเสียหาย จากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐไม่เป็นไปตามที่ตัวเองต้องการ ศาลก็จะวินิจฉัยในเนื้อหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำไปตามขั้นตอนของกฎหมายหรือไม่ ไม่ได้ยกคำฟ้องเพราะเหตุไม่ใช่ผู้เสียหาย เว้นแต่ว่ากรณีนั้นจะเห็นจริง ๆ ว่าผู้ฟ้องที่เป็นประชาชนไม่ใช่ผู้เสียหาย เช่น ผู้ฟ้องอ้างว่าเป็นผู้เสียภาษี และได้รับความเสียหายจากกรณีของปตท. ถ้าเราตีความว่าใครเสียภาษีและเป็นผู้เสียหายทุกคนสามารถ ฟ้องได้หมด โดยคดีที่เอกชนยื่นฟ้องเข้ามามี 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ ของคดีที่ยื่นฟ้องทั้งหมด ซึ่งมากกว่า คดีที่รัฐฟ้อง แต่คดีที่ผู้เสียหายยื่นฟ้องเข้ามาและศาลยกคำ ฟ้องเพราะไม่ใช่ผู้เสียหายนั้น มีไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ส่วนใหญ่ศาลยกฟ้องในเนื้อหาว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐไม่เป็นความผิด เนื่องจากเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่"
รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ยังกล่าวถึงอีกกระบวนการสำคัญของศาลอาญาคดี ทุจริตฯคือหลังมีคำพิพากษาแล้วกฎหมายให้อำนาจศาลสามารถริบของกลาง ซึ่งต้องเป็นของกลางที่ได้จากการกระทำผิด หรือใช้ในการกระทำผิด โดยไม่จำเป็นต้องมีการร้องขอ
การฟ้องร้องคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเมื่อแยกออกมาเฉพาะเชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือกระบวนการพิจารณาที่ดูเหมือนจะรวดเร็วขึ้น ประเด็นดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ว่าผิดหรือถูก หากได้รับการพิสูจน์อย่างรอบคอบและรวดเร็วนับเป็นเรื่องดี ในเมื่อผู้กระทำผิดก็สมควรได้รับการลงโทษ ขณะที่หากไม่ผิดก็จะได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์โดยเร็วเช่นกัน.
สถิติศาลอาญาคดีทุจริตฯ
จากข้อมูลตั้งแต่ 1 ต.ค. 59-15 มิ.ย. 60 พบปี 59 มีคดีรับใหม่ 198 คดี แยกเป็น ผู้เสียหายเป็นโจทก์ 122 คดี กรรมการป.ป.ช.เป็นโจทก์ 2 คดี และอัยการเป็นโจทก์ 74 คดี ในจำนวนนี้แล้วเสร็จ 110 คดี คงค้าง 88 คดี, ปี 60 คดีรับใหม่ 332 คดี แยกเป็น ผู้เสียหายเป็นโจทก์ 208 คดี และอัยการเป็นโจทก์ 124 คดี ในจำนวนนี้แล้วเสร็จ 116 คดี คงค้าง 216 คดี รวมตั้งแต่เปิดทำการศาลอาญาคดีทุจริตฯมีรับใหม่ทั้งหมด 530 คดี แล้วเสร็จ 226 คดี คงค้าง 304 คดี
สำหรับสังกัดที่มีบุคคลถูกฟ้องคดีมากที่สุดคือ กระทรวงศึกษาธิการ 285 คน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 238 คน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 200 คน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) 181 คน และกระทรวงมหาดไทย 129 คน
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน